# เลือกไม่ถูก เอาหมดเลยได้มั้ย? ทั้ง “ออฟไลน์” กับ “ออนไลน์”

ผู้เขียน: วินัย นาดี
วันที่: 13-04-2020

ความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่ “ออนไลน์” ได้ถูกวิกฤตโควิด-19 กระชับพื้นที่และผลักดันให้การทำธุรกิจให้รอดผ่านช่วงนี้ไปได้ด้วยการเชื่อมโยง “ออนไลน์” กับ “ออฟไลน์” ได้อย่างไร้รอยต่อ ในวันที่สังคมถูกบังคับให้โยกย้ายกิจกรรมต่าง ๆ ไปสู่โหมด “ออนไลน์” เพื่อลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล อันเป็นมาตรการหลักในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งโหมด “ออนไลน์” นั้นกิจกรรมหลัก ๆ ก็คือ “การทำงานที่บ้าน” หรือ Work from Home หรือ #WFH หรือมีอีกคำที่ใช้กันในต่างประเทศก็คือ “อยู่บ้าน รักษาชีวิต” หรือ #StayHomeSafeLives

โดยสถานการณ์นี้ก่อให้เกิดผลกระทบที่ทำให้สังคมต้องปรับตัวแบบทันท่วงที แม้ความพร้อมของแต่คนและแต่ละภาคธุรกิจไม่เท่ากัน แต่ก็จำเป็นต้องนำเสนอกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านรูปแบบออนไลน์มากที่สุด เท่าที่ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจะพึงอำนวย ซึ่งมีข้อได้เปรียบที่ความรวดเร็ว ประหยัดเวลา และทรัพยากรในรูปแบบออฟไลน์ ให้เหลือเท่าที่จำเป็นจริง ๆ เพื่อควบคุมต้นทุนที่ธุรกิจจะต้องจ่ายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะศึกโควิด-19 อาจไม่จบเร็วอันเป็นผลจากการระบาดที่กระจายไปทั่วโลก ดังที่ผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขได้ให้ข้อมูลไว้

“การปรับตัว” กิจกรรมต่าง ๆ จาก “ออฟไลน์” ไปสู่ “ออนไลน์” สิ่งแรกที่หลายคนคงนึกถึงนั่นก็คือ “เทคโนโลยี” ที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการติดต่อสื่อสาร หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งก็คือ อินเตอร์เน็ต ซอฟท์แวร์แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่จำเป็น รวมไปถึง อุปกรณ์มือถือ แท๊บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ขอยกตัวอย่างในภาคการศึกษา สิ่งที่จำเป็นคือระบบห้องเรียนออนไลน์ ซึ่งสองค่ายใหญ่ ได้นำเสนอแพลตฟอร์ม เช่น Google Classroom และ Microsoft Team

โดยสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่นั้นมีให้นักศึกษาใช้มาก่อนหน้านี้แล้ว หากแต่ไม่ได้รับความสนใจที่จะใช้มากนัก ด้วยข้อจำกัดของการเข้าถึง จึงเป็นโอกาสของแอพพลิเคชั่นจากฟาก StartUp ที่กำลังเป็นที่นิยมและมาแรง เช่น Zoom.us แต่ก็มีประเด็นข้อกังวลในเรื่องของความปลอดภัยถูกกล่าวถึงเป็นระยะ ๆ หรือแอพพลิเคชั่น Line ที่เราคุ้นเคยได้นำเสนอการประชุมกลุ่มผ่าน Video Call ซึ่งผู้ให้บริการเองก็มีความพยายามแก้ไขปรับปรุงให้ง่ายและเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน อันเป็นปัจจัยแรก ๆ ในการตัดสินใจ ขณะที่ความพร้อมของเทคโนโลยีก็เป็นปัจจัยสำคัญซึ่งขึ้นอยู่กับทรัพยากรของแต่ละหน่วยงาน หรือกำลังทรัพย์ส่วนบุคคล

ประเด็นถัดมาที่น่าสนใจคือ “พฤติกรรมการปรับตัว” ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมส่วนตัว หรือพฤติกรรมในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งในมนุษย์เรานั้น พฤติกรรมเหล่านี้จะมีพัฒนาการมาจากพื้นฐานทางครอบครัว การศึกษา และอิทธิพลทางสังคม ซึ่งพฤติกรรมนี้สามารถจะปรับเปลี่ยนได้ แต่อาจจะใช้เวลา สั้นหรือยาว ไม่เท่ากัน

เท่าที่ผู้เขียนทดลองและสังเกตในภาคการศึกษา พบว่า เดิมทีส่วนใหญ่มีการติดต่อปฏิสัมพันธ์กันตัวต่อตัว สถานการณ์โควิด 19 นี้ ได้บังคับให้เปลี่ยนมาติดต่อกันทางเทคโนโลยีการสื่อสาร ในช่องทางต่าง ๆ แทน แม้ตัวผู้เขียนเองมีความสนใจในการที่จะทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ หากแต่ว่าสภาพการณ์ของเทคโนโลยีที่มีอยู่ในตลาดนั้น มีมากมายจนเลือกไม่ถูก (Paradox of Choices) จะเรียกว่าเป็นภาวะ “ทะเลเดือด” (Red Ocean) ก็คงได้ ลำพังแค่ลองใช้งานเบื้องต้นในแต่ละเทคโนโลยี ก็ใช้เวลานานระดับนึง และหากต้องจะต้องประเมินว่าควรใช้เทคโนโลยีใด หรือเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียคงจะต้องใช้เวลานานขึ้นไปอีก ทำให้ไม่ได้มีโอกาสที่จะได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานจริง ๆ เท่าที่ควร

แต่หลังจากเหตุการณ์โควิด 19 เข้าสู่เฟส 3 ที่ส่งผลให้มีการปิดเมือง และผลักดันกิจกรรมต่าง ๆ เข้าสู่โหมดออนไลน์อย่างจริงจังนั้น ด้วยระยะเวลาที่กระชั้น การเรียนการสอนยังคงดำเนินต่อ ต้องตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยี หรือเทคนิคต่าง ๆ มาใช้ในสถานการณ์จริง กล่าวอีกนัยนึงก็คือ ผู้เขียนสามารถจัดการปัญหา “เลือกไม่ได้” “ผลัดวันประกันพรุ่ง” หรือ “การไม่เริ่มซะที” ออกไปได้ ในช่วง “ปรับตัว” นั้นประกอบไปด้วยขั้นตอนการประกอบร่างตัวเองกับ “เทคโนโลยี” ให้เข้ารูปเข้ารอย และปรับเปลี่ยน “พฤติกรรม” ให้คุ้นชินกับการปฏิสัมพันธ์รูปแบบใหม่

โรคระบาดได้บีบบังคับเราจนจำต้องเดินหน้าแบบลองผิดลองถูก มีสิ่งใหม่มากมายให้เรียนรู้เพิ่มเติม และก็มีปัญหาให้พบเจออยู่ตลอดเวลาเช่นกัน หากใครเคยได้ฟังเรื่องราวหรือได้อ่านแนวทางของสตาร์ทอัพ ก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ไม่ยากนัก มีขั้นตอนเป็นนาวทาง เลือกวิธีการที่ชอบ จากนั้นก็ลองทำและประเมินผล ทบทวนเพื่อเรียนรู้และพัฒนาต่อ (Build, Measure, and Learn)

ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมาผู้เขียนได้ลองใช้แอพพลิเคชั่น Virtual Classroom ทุกตัว แต่ละตัวมีข้อแตกต่างที่ในรายละเอียด (คงจะดีไม่น้อยถ้ามีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่รวมแต่ข้อดีของทุก Virtual Classroom ไว้ด้วยกัน อันที่จริงก็มี StartUp เกิดใหม่ที่พยายามปิดช่องว่างตรงนี้) แต่สุดท้ายผู้เขียนตัดสินใจเลือกใช้ Facebook Live เพราะผู้ใช้ร่วมส่วนใหญ่ (ซึ่งก็เป็นวัยเรียน) มีความคุ้นเคย ช่วยลดปัญหาเชิงเทคนิคไปได้มากพอสมควร อันนี้ต้องขอขอบคุณแพลตฟอร์ม Live Streaming เริ่มตั้งแต่ Youtube มาจนถึง Facebook Live ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีฐานไว้อย่างดี

เมื่อถึงคราวจำเป็นที่ต้องขยับจากออฟไลน์ที่เน้นการบรรยายในชั้นเรียนมาเป็นออนไลน์ทำให้สามารถทำได้ทันที เพียงแค่ศึกษาขั้นตอนและวิธีการ นอกจากนี้ในวงการ Live Streaming ซึ่งผู้บุกเบิกส่วนใหญ่ไม่ใช่สายการศึกษา หรือสายเทคโนโลยีแต่เป็นสาย Gaming หรือนักแข่งกีฬาอีสปอร์ตทั้งหลาย กลุ่มคนเหล่านี้ได้ใช้แพลตฟอร์ม Live Streaming เป็นที่แสดงผลงานและฝึกซ้อมพัฒนาฝีมือ

ณ จุดนี้ คงเป็นคราวที่ผู้ผลิตคอนเทนต์สายอื่น ๆ เช่น ภาคการศึกษา จะขอเป็นผู้ตามเข้าไปสร้างคอนเทนต์ให้แพลตฟอร์มเหล่านี้บ้าง โดยในบทความนี้จะยังไม่ขอกล่าวถึงประเด็นเจาะลึกในเรื่องคอนเทนต์ออนไลน์อื่น ๆ เช่น ลิขสิทธิ์ หรือกฎหมาย แต่จะขอกล่าวถึงข้อเปรียบเทียบจากโหมดออฟไลน์มาสู่ออนไลน์ก่อน ซึ่งประสบการณ์ในการได้ Live Streaming นั้นตื่นเต้นกว่าสอนหน้าชั้นเรียนเยอะมาก เพราะมีทั้งต้องควบคุมด้านเทคนิคต่าง ๆ ภาพ สัญญาณสตรีมมิ่ง และการนำเสนอเนื้อหา อีกทั้งยังต้องคอยตอบคอมเม้นท์ของผู้ฟังไปพร้อมกัน ซึ่งต้องใช้พลังในการสอนเยอะกว่าการสอนในชั้นเรียนอย่างมาก

การปรับตัวเพื่อแก้ปัญหาในครั้งนี้ ทำให้ย้อนนึกไปถึงทฤษฎี Workaround ของ Alter (2014) ที่อธิบายในเรื่องของความจำเป็นในการปรับตัวในชีวิตประจำวันให้เข้ากับสถานการณ์โรคระบาด ทั้งยังเป็นการชี้ให้เห็นถึงทางเลือกใหม่ของวิถีชีวิตในสังคมในอนาคต เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 ผ่านพ้นไป สิ่งที่แต่ละบุคคลและสังคมควรไตร่ตรองพิจารณาคือ ประสบการณ์ที่เป็นผลลัพธ์ในภาพใหญ่ และเหตุการณ์เล็ก ๆ ที่เกิดขึ้น การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้จะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบถาวรหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่อย่างน้อยหลายคนได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น สอนหนังสือ ประชุม หรือแม้แต่การสั่งอาหาร พฤติกรรมเหล่านี้จะคงอยู่ต่อไปหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคลและสภาวะสังคมเป็นสำคัญ

ก่อนหน้านี้เรามองเรื่องของกิจกรรมออนไลน์เป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกิจกรรมออฟไลน์ ​​ซึ่งเป็นแกนหลักในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานจากที่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน #WFH เพราะสามารถประชุมออนไลน์ได้ หากเรามีปัญหาเรื่องการเดินทาง หรือมีกิจธุระอื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องเข้าชั้นเรียนทุกครั้ง เพราะสามารถดูคลิปย้อนหลังได้

ผู้เขียนขอวิเคราะห์ในลักษณะของตัวแทนผลลัพธ์ในภาพใหญ่ ขอเริ่มจากการทำงานจากที่บ้าน จะทำได้ 100% เมื่อลักษณะงานนั้นสามารถรับส่งกันข้อมูลกันได้ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น งานลักษณะฟรีแลนซ์ต่าง หากต้องมีการรับส่งงานกันเป็นสิ่งของ เช่น งานผลิตสินค้า อาจจะใช้บริการขนส่งมาเป็นตัวเชื่อม แต่ก็ต้องประเมินต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่าย ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันนั้น ก็มีหลายบริษัทได้ทดลองเปลี่ยนโหมดจากออฟไลน์ ไปเป็นออนไลน์ โดยอาจจะได้มีการลงทุนไปบ้าง เช่น หลายบริษัทอนุญาตให้พนักงานยกคอมพิวเตอร์กลับไปใช้งานที่บ้าน และแจกซิมอินเตอร์เน็ตให้ใช้งาน ซึ่งเมื่อสถานการณ์ผ่านไปก็คงต้องมีการทบทวนว่าจะลงทุนยกคอมพิวเตอร์กลับมาออฟฟิศ หรือจะทำงานจากที่บ้านต่อ แบบไหนได้ประโยชน์กว่ากัน

ส่วนการเรียนออนไลน์นั้น ผู้เขียนมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ดีที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น ช่วยในเรื่องการขยายโอกาสอย่างน้อยก็ทำให้นักศึกษาที่พลาดในการเข้าเรียนได้ตามเรียนได้ทัน ในส่วนของทรัพยากรความรู้อื่น ๆ เช่น หนังสือ หรือวารสารต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันได้มีรูปแบบในการพัฒนาให้มีทั้งออฟไลน์และออนไลน์ แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงไปสู่ออนไลน์ค่อนข้างมากก็คือ การปฏิสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน

เนื่องจากธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนั้น มีพัฒนาการจากการทำกิจกรรมที่มีการเห็นหน้าเห็นตา ลองผิดลองถูกไปพร้อม ๆ กัน เราคงต้องตั้งคำถามว่าเทคโนโลยีที่ใช้ในการศึกษานั้น ส่งผ่านความรู้สึกและประสบการณ์แบบนี้ได้มากน้อยเพียงใด โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนมีวิธีการปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษาผ่านช่องทางออนไลน์ที่แตกต่างจากรูปแบบตัวต่อตัว เพื่อลดโอกาสเกิดการเข้าใจผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น อาจจะมีการใช้อีเมล์ ร่วมกับการ Chat หรืออาจจะถึงขั้นใช้วิดีโอคอล โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์และลักษณะการสนทนา

นอกจากเรื่องการทำงานและการเรียนซึ่งเป็นกิจกรรมหลักในชีวิต ยังมีสินค้าหรือบริการอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะบริการทางการเงินที่เป็นหน้าด่านให้กับสังคมไทยได้ใช้กันมาพักใหญ่ เดี๋ยวนี้การจับจ่ายใช้สอยนั้นคล่องตัว ย้ายธนาคารมาในฝ่ามือ เพียงแค่ใช้นิ้วแตะผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ซึ่งต้องปรบมือให้กับความร่วมมือกันของกลุ่มธนาคารภายใต้การนำของธนาคารแห่งประเทศไทยผลักดัน Prompt Pay จนสำเร็จ แม้หลายคนยังกลัวที่จะใช้เพราะกลัวภาษี อันนี้จริงไม่ว่าจะใช้รูปแบบการโอนแบบไหน หากไม่เป็นเงินสดก็สามารถถูกตรวจสอบได้ทุกธุรกรรม ดังนั้นอย่าได้กลัว

ช่องทางนี้ถือว่าสะดวกสุดเนื่องจากสามารถโอนเงิน รับ-จ่าย เพียงแค่บอกเบอร์โทรศัพท์มือถือไม่ต้องถามธนาคารให้วุ่นวาย หากมีเบอร์ในเครื่องแอพพลิเคชั่นก็เชื่อมถึงกันได้ไม่ยาก หรือสแกน QR Code ก็ใช้เวลาไม่กี่วินาที ซึ่งถือว่าเป็นความโชคดีของประเทศเราที่มีการใช้เทคโนโลยีนี้มาสักพัก จนเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ก็ไม่ทำให้เกิดผลกระทบมากนัก เช่น ผู้บริโภคไม่ได้เกิดการตื่นตระหนกรีบไปถอนเงินสดออกมาเก็บไว้ เพื่อใช้จ่ายในเวลาที่มีประกาศปิดเมืองปิดประเทศ อีกทั้งยังช่วยให้การสลับโหมดมาจับจ่ายใช้สอยออนไลน์นั้นไม่ติดขัด ในขณะที่การจับจ่ายใช้สอยด้วยเงินสดนั้น ก็มีผู้บริโภคเกิดความระแวงถึงขั้นเอาธนบัตรที่รับมาจากคนอื่นไปทำความสะอาดและถ่ายรูปโพสต์รูปราวแขวนธนบัตรลงสื่อโซเชี่ยลกันประปราย แต่หากพิจารณาถึงความจำเป็นของบริการทางการเงินในโหมดออฟไลน์นั้น จะเห็นได้ว่ายังมีผู้บริโภคมาคอยใช้บริการอยู่โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ใช้แรงงาน

ตัวอย่างเช่น ตอนที่ผู้คนพยายามจะมีบัญชีธนาคารที่สามารถรับเงินช่วยเหลือจากทางรัฐฯ ได้ผ่านบริการ Prompt Pay และนี่ยังไม่รวมถึงบริการอื่น ๆ ของสถาบันการเงิน เช่น การพิจารณาให้เงินกู้ บริการธนาคารส่วนบุคคล ฯลฯ ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดคือ แอพพลิเคชั่น บางธนาคารใช้งานยากจนทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มเลือกที่จะไม่ใช้ ผู้พัฒนาคงต้องให้ความสำคัญกับ User Interface ให้มากกว่านี้เพื่อสร้างความประทับใจ (User Experience) ในการใช้และรักษาฐานลูกค้าเอาไว้

มีกลุ่มผู้สูงอายุไม่น้อยอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ หากแต่ผู้ให้บริการจำเป็นต้องเข้าใจข้อกำจัดของกลุ่มนี้ เช่น เจ้าหน้าที่ธนาคาร A แนะนำให้คุณยายท่านหนึ่งโหลดแอพพลิเคชั่นสำหรับทำธุรกรรมทางการเงินเรียบร้อย แต่ตั้งวงเงินการโอนไว้ที่ 1 แสนบาท แต่คุณต้องการจะโอน 5 แสน จึงโอนไม่ได้ เจ้าหน้าที่บอกเพียงว่าให้ไปแก้ที่มือถือ สิ่งที่คุณยายทำคือ เดินเข้าหาเจ้าหน้าที่ธนาคาร B ให้ช่วย เจ้าหน้าที่ก็ยินดีช่วย ผลที่ตามมาคือ คุณยายท่านนี้โอนเงินที่มีย้ายมาฝากที่ธนาคาร B จะเห็นได้ว่า หากจะให้ออนไลน์เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้สูงอายุ ออฟไลน์ต้องให้ความสำคัญที่จะสนับสนุนผู้ใช้เรียนรู้และคุ้นเคยกับออนไลน์ มิเช่นนั้น เราจะเสียลูกค้าเหมือนเช่นธนาคาร A

ทีนี้ลองมาวิเคราะห์ในส่วนของบริการที่เป็นในส่วนความบันเทิงกันบ้าง เช่น โรงภาพยนตร์ และร้านอาหาร ซึ่งในมุมของผู้บริโภคนั้นสำหรับในส่วนของความบันเทิงในการดูหนัง ฟังเพลงนั้นสามารถหาบริการออนไลน์มาทดแทนกันได้ไม่ยากนัก เพราะมีผู้ให้บริการในออนไลน์อยู่เยอะ โดยมีทั้งคอนเทนต์ในแบบเอเชียบ้านเรา หรือแบบตะวันตกให้เราสามารถรับชมกันได้

ในส่วนของร้านอาหาร ในมุมของผู้บริโภคก็ยังสามารถสลับมาสั่งอาหารออนไลน์ และรับอาหารผ่านบริการเดลิเวอรี่ถึงบ้านซึ่งให้บริการโดยแพลตฟอร์มส่งอาหารเจ้าใหญ่ในตลาด แม้จะมีกระแสข่าวด้านลบในเรื่องของการฉวยโอกาสขึ้นราคา แต่ก็ยังมีกระแสข่าวเรื่องดี ๆ เกิดขึ้น เช่น การที่แท๊กซี่และสามล้อเข้าร่วมเป็นคนส่งอาหารหรือสินค้า ทดแทนการที่ไม่มีผู้โดยสารออกมาใช้บริการ ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่าในวิกฤติย่อมมีโอกาส การร่วมมือกันนำไปสู่ทางรอดหากมีความยืดหยุ่นและพร้อมที่จะปรับตัว

นอกจากผลลัพธ์ในภาพกว้างแล้วยังมีผลลัพธ์ในภาพลึก ในแง่ของความรู้สึกที่มีมุมมองต่างมุมต่างความเห็นในรายละเอียดของแต่ละบุคคล คงต้องตั้งคำถามว่า สถาบันในสังคมเรานั้นมีความยืดหยุ่นพอที่จะรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด อาจจะมีหลายฝ่ายออกมาแสดงจุดยืนที่ว่า เราควรเลือกออนไลน์แล้วเลิกออฟไลน์ มันก็เหมือนการหักดิบ ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากกฎระเบียบที่มีอยู่ยังไม่สามารถรองรับกิจกรรมออนไลน์ได้ทั้งหมด

ในมุมนี้ผู้เขียนขอยกมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้เป็นแว่นส่องเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นออฟไลน์หรือออนไลน์ จะเห็นได้ว่า สถานการณ์ปัจจุบันนั้น ความต้องการของทำกิจกรรมบนโลกออนไลน์ (อุปสงค์) มีมากกว่าแพลตฟอร์มที่มีอยู่ (อุปทาน) เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านการติดต่อแบบตัวต่อตัวภายใต้สโลแกน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” หากเราจะมองย้อนกลับไปในอดีตธุรกิจหรือแพลตฟอร์มที่พัฒนาเทคโนโลยีได้ประสบความสำเร็จนั้น คือแพลตฟอร์มที่สามารถแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้ โดยสามารถเพิ่มปริมาณอุปทานให้ทันและเพียงพอเพื่อสนองตอบต่ออุปสงค์ที่มากมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้

การเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคดิจิทัลนี้ เป็นเพียงรอยต่อหาใช่การบังคับให้เราต้องเลือกระหว่างออฟไลน์หรือออนไลน์ เราต้องใช้ประโยชน์ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ได้อย่างสมดุล โดยเลือกที่จะหาวิธีการที่เหมาะสมยืดหยุ่น หรืออย่างน้อยที่สุด เราหรือสถาบันทางสังคมนั้นจะต้องปรับตัวเองให้มีสภาพที่ยืดหยุ่นเพียงพอที่จะปรับ ลด เลิก หรือขยับขยายเคลื่อนย้ายตัวเองไปใช้แพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาให้ทันตามกระแสโลก

สุดท้ายนี้ขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านเข้าร่วมจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มฝากขายออนไลน์ที่กำลังคึกคักของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในช่วงนี้

  • จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เเละการฝากร้าน
  • KU จะฝากร้าน
  • ชาวมหิดลเปิดแผง
  • 3 พระจอมฯ มาร์เก็ตเพลส

#เราจะผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน